เหลื่อมล้ำในแบบเกาหลีฯ

“Hell joseon” ( นรกโชซอน ) เป็นคำที่ถูกใช้ในการระบายความรู้สึกของคนรุ่นใหม่เกาหลีฯ บอกถึงความอัดอั้นในความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคม รวมถึงการกดขี่ทางเพศด้วย

ที่มาของคำนี้มาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยราชวงศ์โชซอน ในช่วงปี 1300 ถึง 1800 ที่ชนชั้นสูงจะกำหนดว่าสังคมควรเป็นยังไง ในเเบบที่พวกเขาต้องการ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุดก็คือการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมนี่แหละ

จะมีการแบ่งเป็น 4 ชั้นวรรณะชัดเจน  ชนชั้นนำจะถือครองที่ดินและให้คนที่ชนชั้นต่ำกว่ามาทำงานให้พวกเขา ชนชั้นที่ต่ำที่สุดเรียกว่าชนชั้น “ช็อนมิน” พวกเขาจะไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ พวกเขาสามารถซื้อขายได้แบบทาส เหมือนสิ่งของทั่วๆไป

ชะตาชีวิตของชนชั้นล่างจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนชั้นนำในสังคมเสมอ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนัก

คนรวยมีการศึกษาดีจะได้งานดี ส่วนคนจนจะได้รับการศึกษาที่เเย่ๆ ได้งานที่เเย่ๆ หรือไม่ก็ตกงาน

คนอีกกลุ่มที่อึดอัดที่สุดในระบบความเหลื่อมล้ำนี้ก็คือชนชั้นกลาง คนพวกนี้มีการศึกษาที่ดี รู้เยอะ เเละความรู้นี้เองทำให้พวกเขาเจ็บปวด เพราะรู้ว่าการศึกษาที่ดีอาจจะไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นในสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำในสังคม ระบบพวกพ้อง ระบบแชโบล ซึ่งเมื่อก่อนถ้าใครไม่เห็นชอบต่อระบบนี้พวกเขาอาจจะเดือดร้อนได้ง่ายๆ หาว่าไม่รักชาติ ไม่สำนึกบุญคุณ

ซึ่งคนที่จะลุกขึ้นมาปฎิวัติบ่อยๆในสมัยราชวงศ์โชซอน คือคนในชนชั้น “ซังมิน” หรือชนชั้นเเรงงานทั่วไปที่ต้องจ่ายภาษี ไม่ต่างจากชนชั้นกลางในปัจจุบัน

ส่วนคนรุ่นใหม่ของเกาหลีฯ จากผลการสำรวจใน 21,000 คน ของ Joongang Tongyang Broadcasting Company พบว่า 88% เกลียดความเป็นเกาหลีฯ และคิดถึงการย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ซึ่งความเหลื่อมล้ำคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่คิดแบบนี้

ปัจจุบันผู้คนเริ่มเปิดใจและกล้าที่จะพูดถึงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หลายมิติมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการสอดแทรกเรื่องราวนี้ในสื่อบันเทิงต่างๆอย่างเเยบยล เข้าถึงง่าย ต่อเนื่องตลอด 20 ปี การสร้างผลงานต่อเนื่องนี้เองทำให้ผู้คนเริ่มมองว่ามันคือปัญหาจริงๆไม่ใช่เป็นเพียงเเค่กระเเส [ Inside man – 2015 / Handmaiden – 2016 / A taxi driver – 2017 / Burning – 2018 / Parasite – 2019 ]

ผู้คนเสพติดในระบบชนชั้น และใฝ่ฝันที่จะอยู่ในชั้นสูงๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาอยู่ในจุดสูงสุด มันดูเหมือนพวกเขาไม่มีวันผิด Gapjil ( แก๊ปจิล ) จึงถูกสร้างขึ้นมา

Gapjil (갑질) – ใช้อำนาจเหนือคนที่อ่อนแอกว่า

“แก๊ปจิล” เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในความคิดของคนเกาหลีฯ ชนชั้นนำในสังคม คนที่รวยมากๆ หรือคนที่มีชื่อเสียง จะเชื่อว่าพวกเขามีอภิสิทธิ์ และพวกเขาจะไม่มีวันผิด

พวกเขาจะเย่อหยิ่ง บ้าอำนาจ คิดว่าตนเองพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไป พวกเขามักจะโกรธขึ้นมาทันทียามที่รู้ว่ามีคนเพิกเฉยพวกเขา หรือปฎิบัติต่อพวกเขาราวกับว่าเป็นคนธรรมดา

พนักงานหลายคนจะถูกด่า ต่อว่าอย่างรุนแรง ถูกทำร้าย ถูกบังคับให้ดื่มเหล้า ถูกบังคับให้ชงกาแฟให้ทุกคนในออฟฟิศ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

พฤติกรรมของ Lim Bum Joon บุตรชาย Lim Byung Sun – CEO Jung Products, INC

หัวหน้าจะถูกทำร้ายจากคนรวยผู้เป็นเจ้าของบริษัท หัวหน้าจะทำร้ายพนักงานของตนเอง พนักงานจะทำร้ายพนักงานที่เข้ามาใหม่ เป็นทอดๆแบบนี้

หลายคนจึงเลือกที่จะใช้ความรุนเเรง ผ่านแนวความคิดของแก๊ปจิล หรือพยายามผลักดันตัวเองให้ร่ำรวยมากๆเพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกถึงการเป็นคนชั้นสูงในสังคมบ้าง เพื่อจะได้กดขี่คนอื่นได้ตามใจ

จากผลการรายงานพบว่าพนักงานบริษัทกว่า 97% เคยมีประสบการณ์ “แก๊ปจิล” มาก่อน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หลายๆกรณีไม่มีตัวบทกฏหมายใดๆมาคุ้มครองผู้เสียหาย  ถึงเเม้จะมีการผลักดันต่อเนื่องในการร่างกฏหมายจากนักกิจกรรมรณรงค์ เเต่ก็ถูกเลื่อนการพิจารณาไปเรื่อยๆ

จนมาถึงปี 2019 เพิ่งจะมีบทลงโทษเกิดขึ้น และสามารถนำผู้ต้องหามาลงโทษบ้างเเล้ว ซึ่งคนที่โดนข้อหาในการ แก๊ปจิล จะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี เเละปรับไม่เกิน 25,000 usd

แก๊ปจิลเป็นส่วนหนึ่งของระบบทหารที่ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องยาวนาน [ Private Yoon Incident. PROVIDED BY ASIAECONOMY ]

โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้ผู้คนกล้าจะพูดเรื่องนี้มากขึ้น ผู้เสียหายสามารถอัด และเเชร์เหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่กระทำผิดต้องจำนนต่อหลักฐาน ถ้าพวกเขารวยเเละมีอำนาจมาก สังคมจะหาวิธีลงโทษพวกเขาเอง บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายหลังจากที่สื่อโจมตีพวกเขาอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็ถูกแบนสินค้า

แต่หลายๆคนโดยเฉพาะผู้หญิง ยังคงสับสนว่าสิ่งที่พวกเธอถูกกระทำเป็นสิ่งที่รุนเเรงเกินไปจริงๆรึเปล่า หรือเป็นเรื่องปกติที่สมควรจะยอมรับในโลกแห่งความจริง

 

 

 

Sources : David Tizzard  www.straitstimes.com www.thegranitetower.com  www.koreabiomed.com

follow

 

 

 

 

One thought on “เหลื่อมล้ำในแบบเกาหลีฯ”

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.