คำนี้ถูกใช้บ่อยในยุคที่ ผู้คนอยากระบายอะไรก็ได้ในโลกโซเชียลมีเดีย มันถูกใช้กันอย่างซ้ำซากเพื่อตอกย้ำอารมณ์ขุ่นเคือง ขัดใจ กับกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่ยินดีที่จะถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง อยู่ในกะลา อยู่ในโลกเดิม ความคิดเดิมๆไม่เเคร์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง หรือความรู้ใหม่ๆ ที่มีเเนวโน้มว่า จะเข้ามาลบล้างความเชื่อเดิมๆ พวกเขาจะตื่นตะหนกกับการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
กะลาแลนด์มักจะถูกเปรียบเทียบ กับเหล่าประเทศที่พัฒนาเเล้วเสมอๆ เเต่ถ้าลองมองกลุ่มประเทศที่พัฒนาเหล่านั้นดีๆ ก็จะพบว่า พวกเขาก็มีเเนวคิดบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็น “กะลาเเลนด์” คล้ายๆในเเบบที่เราได้นิยามเอาไว้
หรือเเท้ที่จริงเเล้ว…เราอาจจะอยู่ในกะลาที่ต่างกันเท่านั้นเอง ลองมาดูกันสิว่าคุณอยู่ในกะลาเเบบไหน กะลาหยุดเวลา ที่ไม่รู้ว่า เวลาได้ล่วงเลยมานานเเล้วเเค่ไหน หรือกะลาแห่งโลกจินตนาการ ที่ความมืดภายใน ทำให้คุณหลงใหลไปกับจินตนาการ จนหลงลืมความจริงที่เคลื่อนไหวอยู่ภายนอก
มีคำกล่าวหนึ่งของนิตเช่ ( Friedrich Nietzsche ) ที่ว่า…
“ต่อให้คุณบอกว่า…ไม่ได้นับถือศาสนาอะไร คุณก็เป็นคนที่นับถือศาสนาอะไรบางอย่างอยู่ดี “
ลองถามตัวเองว่า คุณมีทีมฟุตบอลที่คลั่งไคล้รึเปล่า มีคติประจำใจให้ยึดถือรึเปล่า ปักใจเชื่อกับทฤษฎีบางอย่างทางวิทยาศาสตร์ หรือ ติดตามข่าวสารของ อีลอน มัสก์ , แจ็ค หม่า , แร็พ เอก อยู่รึเปล่า
อะไรที่คุณใช้เวลาอยู่กับมัน ในช่วงที่สมองว่างเว้นจากการทำงาน หรือคิดว่าจะกินอะไรดีในวันนี้ นอกจากผัดกระเพรา
เพราะต่อให้คุณไม่เชื่อในศาสนา เเต่ศาสดาจะยังคงมีอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ตัวคุณเองนั้นแหละ
เราต่างก็มี “ความเชื่อ” หรือ “กะลา” เป็นของตัวเอง หากเรายังคงละเลยข้อเท็จจริงบางอย่างที่เราไม่อยากที่จะยอมรับ
กะลาหยุดเวลา ( Grey Zone )
ทุกๆประเทศ ทุกวัฒนธรรมมีเรื่องละเอียดอ่อนเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุจำนวนมาก ที่ลูกหลานได้รับอิทธิพลจากเเนวคิดของพวกเขาเข้ามาเต็มๆ ยิ่งครอบครัวมีความใกล้ชิดกันมากเท่าไร มันจะยิ่งสะท้อนออกมาในรูปเเบบความคิดที่คล้ายคลึงกัน
จินตนาการว่าคุณอยู่กับเเฟนที่คุณอ้างว่า คุณทั้ง 2 สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง
คุณเคยบอกรึเปล่าว่าคุณเคยมีอะไรกับคนอื่นมาเเล้วกี่คน หรือกี่ครั้งที่คุณคิดนอกใจ
บางเรื่องคุณไม่จำเป็นต้องบอก…เเต่ก็รู้ว่ามีอยู่จริง ความเงียบดังกล่าวจะถูกทิ้งไว้ใน “พื้นที่สีเทา”
สังคมของเหล่านักอนุรักษนิยมจะเป็นเช่นนั้น เเละจะเเตกต่างกันไปในเเต่ละวัฒนธรรม คุณอาจจะมองว่าพวกเขาจะเเบ่งดี-ชั่ว ขาว-ดำ ออกจากกันชัดเจน เเต่เเท้ที่จริงเเล้ว มันกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม
เช่นการเเต่งงานที่เกาหลีฯ พวกเขาจะถือว่า เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวต้องมีสถานะทางสังคมเเละการเงินพอๆกัน
ในญี่ปุ่นผู้ชายต้องเป็นฝ่ายหาเงินส่วนผู้หญิงต้องดูเเลสามี ต้องทำอาหาร ต้องเป็นเเม่บ้านที่ดี
ส่วนในไทย สินสอดกับนามสกุลจะเป็นสิ่งที่มีความหมายขึ้นมาทันทีในการเเต่งงาน เเละซองเเต่งงานที่คุณได้รับหมายถึงเงินที่คุณจะต้องเสียไป เเละถ้าคุณใส่เงินไปเเค่ 20 บาท จะหมายถึงการตัดเพื่อน
พวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดเเค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจหนังAv , แก๊งยากูซ่า , กัญชา , บ่อนการพนัน , การคอร์รัปชันโกงกินเล็กน้อยๆ หรือศาสนาที่ถูกบิดเบือนไปในทางที่ตนเองรู้สึกเห็นด้วย
พวกเขาจะยอมรับให้มีพื้นที่สีเทาๆทางกฎหมายเกิดขึ้น เเม้ว่าพวกเขาจะต้องการหรือไม่ก็ตาม เป็นพื้นที่ที่ไร้เหตุผลใดๆมาควบคุม เป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างไว้ เพื่อให้พวกเขาปลอดภัยจากความตื่นกลัว
กะลาแห่งโลกจินตนาการ ( Critical Mild )
หลายๆประเทศที่พัฒนาเเล้วยังคง มีรสนิยมในการเลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากประเทศของตัวเองอยู่ พวกเขาจะตั้งคำถามกับสินค้าที่เขาจะซื้ออยู่เสมอๆ เเละคุณจะไม่เห็นชาติยุโรปชาติใดที่ต่อเเถวยาวเหยียดเพื่อซื้อไอโฟนรุ่นใหม่ แบบนี้เรียกว่า กะลาเเลนด์รึเปล่า?
พวกเขาจะประเมินสินค้าหรือการใช้ชีวิตในเเบบที่มันควรจะเป็น หลายๆประเทศในยุโรปยังคงใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักอยู่ พวกเขาล้าหลังรึเปล่า?
ประเทศจีนยังคงใช้ระบบเสิร์ชเอนจินที่เป็นของตัวเองแทนที่ google พวกเขาจะเห็นข้อมูลบางส่วนเท่านั้นจากที่ทั้งโลกเห็น
หรือการ “รู้เท่าที่ควรรู้” คือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเต็มไปหมด
เข้าใจในธรรมชาติ ( Sustainability )
ประเทศไทยมักโยง Sustainability เข้ากับเศรษกิจพอเพียงอยู่เสมอ ซึ่งมักถูกพูดซ้ำเเล้วซ้ำเล่าเเต่ไม่เคยได้ถูกขยายต่อไปเลยว่ามันหมายถึงอะไรกันเเน่ เเละมันใกล้ตัวกับเรามากขนาดไหน ต่อให้คนเหล่านั้นไม่ได้มีความเคารพในสถาบัน หรือไม่มีความข้องเกี่ยวกับเกษตรกรรมเลยก็ตาม
ก่อนอื่น คุณต้องลบเเนวคิดในเเง่ลบ เกี่ยวกับกะลาเเลนด์ในเเบบเดิมๆออกไปให้ได้เสียก่อน เเล้วยอมรับว่า…กะลาที่มีคุณภาพจะทำให้ชีวิตมีคุณภาพเช่นกัน
Sustainability คือ การศึกษาการทำงานของระบบธรรมชาติ ด้วยการจัดการที่ทันสมัย เพื่อสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ ซึ่งเเต่เดิมทีเรามักจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต
Sustainability จึงเป็นการหยุดเเนวคิดเเบบนั้น เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งเศรษฐกิจ สังคมเเละสิ่งเเวดล้อม อันมีเป้าหมายสำคัญในการ กำจัดความยากจน สร้างระบบการศึกษาที่ดีขึ้น สร้างความเสมอภาพทางเพศ มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน มีสุขภาพที่เเข็งเเรง ปลอดภัยจากมลพิษ อันเนื่องมาจากการทำลายสิ่งเเวดล้อม
หรือเรียกง่ายๆ คือ การบริหารจัดการกะลาให้มีความมั่นคง ปลอดภัย พอที่จะเเข่งขันกับกะลาอื่นๆได้อย่างยั่งยืน เเบบที่เราไม่ต้องฝันถึงการย้ายไปอยู่ในกะลาอื่นๆ ที่เราเดาว่ามันคงจะดีกว่ากะลาที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
กะลาที่ไม่มีอยู่จริง
ยกตัวอย่าง เช่น จัสติน บีเบอร์ ,จิม เเคร์รี่ พวกเขาเป็นนักเเสดงนักร้องชาวเเคนาดาที่อยากประสบความสำเร็จในวิชาชีพ พวกเขา จึงตัดสินใจ ย้ายไปอยู่สหรัฐฯ เเละผลักดันความฝันให้เป็นจริง เเละพวกเขาก็ทำสำเร็จ
เช่นเดียวกับ ผู้กำกับหลายคนที่เป็นชาวเม็กซิโก อยากจะทำงานในเเนวทางที่เขาชื่นชอบ ซึ่งเป็นเเนวทางที่วัฒนธรรมบ้านเกิดของเขายังไม่เปิดรับเท่าที่ควร พวกเขาจึงเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ จนได้ทำงานในเเบบที่เขาอยากทำจริงๆ
นักร้องนักเเสดงหลายคนในไต้หวันต้องการประสบความสำเร็จ ในอาชีพที่เขารัก พวกเขาจึงย้ายไปทำงานที่จีน เพื่อขยายฐานเเฟนๆให้เยอะขึ้น
คนเหล่านี้ใช้ภาษา ในการเปิดเส้นทางของตัวเองไปสู่ที่ใหม่ๆ เเต่มันจะไม่มีความหมายใดๆเลย ถ้าหากคุณเป็นคนที่ไร้ซึ่งความสามารถ เเละในทางกลับกัน คุณไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาเลยด้วยซ้ำถ้าคุณมีความสามารถเพียงพอ คุณจะหาที่ยืนอยู่ในสังคมได้อยู่ดี
ถ้าคุณรู้ตัวเองว่า…เป็นคนมีความทะเยอทะยานเเล้วอยากเห็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คุณคิดว่าคุณจะไปทางไหน เเละด้วยวิธีไหน? คุณจะไปที่อื่น หรือสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ที่คุณยืนอยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีคิดที่ต่างจากเดิม
บางคนอาจพูดว่า…โอกาสที่จะเติบโตในงานที่ตัวเองรัก หรือสิ่งที่ตัวเองคิด ในประเทศนี้มันช่างมีน้อยเหลือเกิน เหตุผลมันอาจไม่ใช่ว่าประเทศของคุณด้อยพัฒนาเลยซะทีเดียว
เเต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดีจะพบว่า เมล็ดพันธ์ุพืชเเต่ละชนิด สามารถปลูกได้ในสภาพอากาศที่ต่างกัน การพัฒนาประเทศก็เช่นกัน มีหลายๆอย่างที่ปลูกไม่ขึ้นที่นี่ หรือถ้าคุณนึกอยากจะปลูกพืชพันธุ์ที่ยากที่จะปลูก มันควรจะเป็นวิธีการที่ต่างจากที่มีอยู่ เเละอาจจะต้องลงทุนสูงในการทดลอง เเต่คุณสามารถ “ใช้เวลา” ไปกับมันได้
“คุณอาจจะไม่มีเงินพอที่จะเอาไปลงทุนอะไร เเต่ทุกคนสามารถลงทุนไปกับเวลาได้ “
หรืออาจเป็นเพราะตัวคุณต่างหากที่ยังพยายามไม่พอ เพื่อที่จะไปในที่ที่ดีกว่าอย่างที่คุณต้องการ หรือเเท้ที่จริงเเล้วคุณไม่ได้รักในสิ่งที่คุณทำจริงๆ
เราอาจจะทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากพัฒนากะลาที่เราอยู่ให้มันดีกว่าเดิม ด้วยเเนวทางใหม่ๆ เท่าที่เราจะสามารถทำได้ หรือเลือกที่จะไปอยู่ในกะลาที่เข้ากับวิถีชีวิตของคุณ
คุณอาจไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น เเต่การที่คุณหลุดออกจาก “กะลาเเห่งความคิด” เดิมๆอาจเป็นหนทางที่ดียิ่งกว่า ในการทำให้สิ่งที่คุณคาดหวังนั้นเกิดขึ้นในโลกเเห่งความเป็นจริง
ไม่ใช่เกิดขึ้นในโลกเเห่งจินตนาการ…ที่ซึ่งคุณเชื่อว่ากะลานั้นมีอยู่จริง
0 comments on “กะลาแลนด์ – ทำไมเราถึงต้อง(ไม่)รู้”